ภายในวัดมีพระอุโบสถที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2490 แทนพระอุโบสถเดิมที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากระเบิดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพระอุโบสถทรงจัตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตู หน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงาม ภายในประดิษฐาน "พระพุทธทศพลญาณ" พระประธานของวัดไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง
แต่พระพุทธรูปที่โดดเด่นของวัดไตรมิตรฯ ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็มีความศรัทธาชื่นชมนั้น ก็คือ "หลวงพ่อทองคำ" หรือ "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัด หลวงพ่อทองคำนั้นมีความสำคัญตรงที่เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกของไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ปีค.ศ.1991 ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขนาดขององค์พระนั้นมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว หรือมากกว่า 2.50 เมตร ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หรือประมาณ 3.04 เมตร 10 ฟุต น้ำหนักประมาณ 5.5 ตัน และที่สำคัญคือสร้างด้วยทองคำแท้ มีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์ ตามที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ค เมื่อปี พ.ศ.2533 มาจนถึงตอนนี้เมื่อราคาทองพุ่งกระฉูด ฉันเชื่อว่ามูลค่าย่อมสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายสิบเท่า
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:18:16 |
|
|
ประวัติความเป็นมา
แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ต่อมาวัดพระยาไกรขาดคนบูรณปฏิสังขรณ์ จึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ บริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาล เข้าจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่
ในขณะนั้น “วัดสามจีน” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ทั่วทั้งพระอาราม โดยสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเพิ่มเติม สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง เห็นว่า จะปล่อยองค์พระพุทธรูปปูนปั้นให้อยู่ที่เดิมต่อไปจะเป็นการไม่สมควร ประกอบกับวัดสามจีน มีสถานที่กว้างขวางเหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงมอบให้คณะกรรมการวัดสามจีน อันประกอบด้วย พระมหาเจียม กมโล, พระมหาไสว ฐิตวีโร (พระวิสุทธาธิบดี), น.อ. หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), ร.น. หลวงบริบาลเวชกิจ (ยู้ ลวางกูล), นายสนิท เทวินทรภักดี ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดพระยาไกรมาประดิษฐานยังวัดสามจีน
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:20:20 |
|
|
จากพระพุทธรูปปูนปั้น สู่ "พระพุทธพุทธรูปทองคำ"
พระพุทธรูปปูนปั้นจึงถูกอัญเชิญมาตั้งแต่นั้น โดยในขณะที่ยังบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวัดได้ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปไว้ข้างเจดีย์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างนี้ มีผู้มาขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ การก่อสร้างพระอาราม พระวิหารต่าง ๆ ในวัดสามจีน ใช้เวลาเนิ่นนาน จนล่วงเลยไปถึง ๒๐ ปี ใน พุทธศักราช ๒๔๙๘ การบูรณะจึงเสร็จสิ้นเรียบร้อย
เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีรมหาเถระ ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระวีรธรรมมุนี ผู้ดำเนินการสร้างวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจนแล้วเสร็จ ได้เป็นแม่กองเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ เพื่อนำขึ้นประดิษฐานยังพระวิหารซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ และหนักมาก ต้องใช้ปั้นจั่นยกองค์พระพุทธรูป ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระเกิดขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้นอย่างแรง พอดีกับเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำ และฝนก็บังเอิญตกอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้น จึงเป็นอันต้องหยุดชะงักลง
ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่ ก็ได้พบเห็นรอยแตกที่พระอุระ และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อแกะรักออก ก็ได้พบเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตาอยู่ชั้นในสุด ท่านเจ้าอาวาส จึงสั่งการระดมผู้คนช่วยกันกะเทาะปูน และลอกรักออกหมดทั้งองค์ ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมาจึงปรากฏให้เห็นพร้อมพุทธลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก
ความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายหมดสิ้นลงเมื่อมีการคุ้ยดินใต้ฐานทับเกษตรออก และพบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ ๙ ส่วน เพื่อสะดวกต่อการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร จึงดำเนินการถอดองค์พระออกแต่เพียง ๔ ส่วน คือ ส่วนพระศอ ส่วนพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และส่วนพระนาภี ทำให้สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ ขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยราบรื่น
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:21:08 |
|
|
ที่สุดของไทย ที่สุดของโลก
การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามในครั้งกระนั้น ได้เป็นข่าวสำคัญอย่างอึกกะทึกครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ ต่างก็พากันประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วหน้า มีการตรวจสอบ และประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา (มาตราทองคำของไทยโบราณตั้งไว้ตั้งแต่ทองเนื้อสี่ คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๔ บาท ทองเนื้อเจ็ด คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๗ บาท ซึ่งเป็นทองที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า ซึ่งทองเนื้อเก้าจะเริ่มพบที่บางตะพานในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เรียกกันว่าทองคำบางตะพาน ส่วนคำว่าสองขาหมายถึง ๒ สลึง) มีน้ำหนักกว่า ๕ ตัน คิดเป็นน้ำหนักทองคำ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ หรือคิดเป็นมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๘ ) ๑๔ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒๙๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยเก้าสิบสี่ล้านบาท) อันเป็นราคาทองคำที่ถูกประเมินในครั้งแรก
พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นับเป็น “พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้ทำการประเมินค่าอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) และบันทึกไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง ๒๑.๑ ล้านปอนด์
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:21:59 |
|
|
ก่อนจะมาเป็น "พระพุทธพุทธรูปทองคำ"
องค์พระพุทธรูปทองคำที่ถูกค้นพบ เป็นพุทธศิลปะสุโขทัยที่งดงามมาก ผู้เชี่ยวชาญทางพุทธปฏิมากรรมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามถึงจุดสุดยอดในกระบวนฝีมือสกุลช่างสุโขทัย ซึ่งในการจัดแบ่งศิลปะพระพุทธรูปสุโขทัยของ เอ.บี.กริสโวลด์ (A.B. Giswold ) นั้น ได้แบ่งศิลปะออก เป็น ๓ หมวด คือ ๑. ก่อนคลาสสิก ๒. คลาสสิกบริบูรณ์ และ ๓. หลังคลาสสิก พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรนี้ นับเป็นศิลปะแบบคลาสสิคบริบูรณ์ อันเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของสกุลช่างสุโขทัย มีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ทองคำนับเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในสังคมสยามแต่โบราณ ในสมัยสุโขทัยนั้น จากข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่า มีแหล่งแร่ทองคำบริเวณลำห้วยแม่ปอย เขตอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชชนาลัยเพียง ๒๕ กิโลเมตร มีการค้นพบเหมืองแร่โบราณในบริเวณดังกล่าว แม้จะมีสายแร่ทองคำเนื้อธรรมชาติไม่มากนัก แต่นับเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการนำทองคำมาใช้ในสังคมสุโขทัยได้อย่างชัดเจน
ในศิลาจารึกหลักที่ ๕ วัดป่ามะม่วง กล่าวถึง การบำเพ็ญบุญของพระมหาธรรมราชา โดยทรง “กระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน...” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทองคำในสมัยนั้นในกลุ่มชนชั้นสูง โดยเฉพาะกษัตริย์ มักจะนิยมสร้างพระพุทธรูปหรือโบราณวัตถุที่สำคัญทางพุทธศาสนาจากทองคำบริสุทธิ์ โดยทรงเป็นศูนย์กลางการดำเนินการ เช่น การสร้างสำเภาทองลอยพระธาตุ ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารเหนือ ความว่า
“....เชิญพระธาตุมาถึงเมืองแล้ว พระธรรมราชาเจ้าจึงป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธาก็เอาทองมาประมวลกันได้ ๒,๕๐๐ ตำลึงทอง ให้ช่างตีเป็นเภาเภตรา จึงใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในน้ำบ่อ...”
ในการสร้างพระพุทธรูปสำคัญ สังคมสุโขทัยจะใช้ลักษณะดังกล่าว และพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้าง และใช้วิธี “ป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธา” หรือให้หัวเมืองภายใต้พระราชอำนาจส่งมอบวัตถุดิบในการจัดสร้างโดยมี “ช่างหลวง” เป็นผู้ดำเนินการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารเหนือ ความว่า
“...พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงรำพึงในพระทัยจะใคร่สร้างพระพุทธรูปให้แล้วด้วยสัมฤทธิ์ ครั้นพระองค์รำพึงแล้วจึงให้หาช่างได้บาพิศณุคนหนึ่ง บาพรหมคนหนึ่ง บาธรรมราชคนหนึ่ง บาราชกุศลคนหนึ่ง ได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลย ๕ คน มาแต่เมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง เป็นช่าง ๖ คน จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งช่างทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายให้ชวนกันรักษาศีล ๕ ประการอย่าให้ขาด ครั้นสั่งช่างแล้วจึงพระราชทานรางวัลแก่ไพร่ทั้งหลายให้ขนดินแลแกลบให้แก่ช่าง ช่างจึงประสมดินปั้นเป็นพระพุทธเจ้าสามรูปตามมีพระราชโองการตรัสสั่งนั้น ให้เหมือนพิมพ์เดียวแลใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นเป็นเบ้าคุมพิมพ์แล้วท้าวพระยาทั้งหลายก็นำเอาทองสัมฤทธิ์มาถวายแก่พระองค์เจ้า ชวนกันหล่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก แลช่างหล่อชวนกันกินบวชเจ็ดวัน ก็ทำพลีกรรมแก่เทวดาทั้งเจ็ดทิศ ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงเอาพิมพ์เข้าเตา...”
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:23:46 |
|
|
กรรมวิธีการหล่อพระพุทธรูปในสมัยโบราณนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น “ฝีมือช่างราษฎร์” กับ “ฝีมือช่างหลวง” ฝีมือช่างราษฎร์ จะเป็นกลุ่มของชาวบ้านที่มีศรัทธาจะสร้างพระพุทธปฏิมาส่วนใหญ่มิได้เคร่งครัดในส่วนผสมของโลหะเท่าใดนัก เมื่อทราบข่าว จะมีการหลอมหล่อพระพุทธรูป มักจะนำโลหะมีค่าจากบ้านเรือนของตนมาเป็นวัตถุดิบร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูป ช่างผู้ซึ่งดำเนินการจะนำหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นไว้ตั้งเอาหัวลง เมื่อเทน้ำโลหะลงไปธาตุที่หนักที่สุดซึ้งได้แก่ ทองคำ จะลงไปตกตะกอนอยู่ในส่วนล่างสุด คือ ส่วนเศียรพระพุทธรูป ดังนั้น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่ จะมีพระเศียรเปล่งปลั่งสุกใสกว่าส่วนอื่น
ส่วนการหล่อโดยฝีมือช่างหลวงนั้น จะเน้นอัตราส่วนผสมของโลหะเป็นพิเศษ กรรมวิธีโดยทั่วไปคล้ายคลึงกัน หากเพิ่มความละเอียดประณีตโดยเริ่มจากการ “ ขึ้นหุ่น” หรือ “ปั้นหุ่น” ชั้นในขององค์พระด้วยดินเหนียวผสมทราย แกลบ ตามส่วน ดินที่มีมักนิยมใช้เรียกว่า “ดินขี้งูเหลือม” มีสีเหลือง โดยกำหนดสัดส่วนไว้สำหรับหุ้มขี้ผึ้งอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นใช้ขี้ผึ้งผสมกับชันเพื่อให้แข็งตัวมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นหนาเท่ากับเนื้อทองที่ต้องการนำแผ่นขี้ผึ้งหุ้มรูปหุ่นให้หมดทั้งองค์ ลงมือปั้นแต่ขี้ผึ้งให้ประณีต ฝีมือช่างจะแสดงออกมาจากการปั้นขี้ผึ้ง
หลังจากนั้นจะมีการติด “สายชนวนขี้ผึ้ง” เพื่อช่วยให้ทองแล่นได้ตลอด โดยต้องคำนึงถึงช่องว่างที่จะเป็นส่วนให้อากาศภายในระบายออกได้ทันเมื่อเททอง ก่อนที่จะนำเอาขี้วัวละเอียดผสมกับดินนวลทาลงบนหุ่นขี้ผึ้งเพื่อให้ผิวทองเรียบงาม หลังจากนั้นใช้ดินอ่อนฉาบรักษาดินขี้วัวไว้แล้วใช้ดินที่ปั้นหุ่นองค์พระชั้นในพอกทับอีกชั้นหนึ่ง
จากนั้นช่างผู้ทำการหล่อพระพุทธรูป จะทำการตรึงหมุดเหล็ก หรือ “ทวย” คือการแทงเหล็กแหลมเข้าไปในหุ่นขี้ผึ้งให้ทะลุเข้าไปถึงชั้นในเพื่อยึดโครงสร้างองค์พระให้แข็งแรง มิให้แตกร้าวขณะเททอง ก่อนที่จะใช้เหล็กมัดเป็นโครงหุ้มดินพอกไว้อีกชั้นหนึ่ง ที่เรียกว่า “รัดปลอก”
ต่อจากนั้นจะทำการพลิกเศียรพระพุทธรูปลงดิน เอาฐานองค์พระขึ้น โดยใช้นั่งร้านยกพื้นไม้ให้รอบสำหรับเดินเททอง ค้ำยันหุ่นด้วยเหล็กให้แน่นหนา แล้วจึงเริ่มสุมไฟเผาหุ่นไล่ขี้ผึ้งรอบองค์พระ ในขณะเดียวกันก็เริ่ม “สุมทอง” ที่เตรียมไว้พร้อมกันไปด้วย โดยมีเบ้าหลอมต่างหาก
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:24:16 |
|
|
เมื่อขี้ผึ้งละลาย หรือที่เรียกกันว่า “สำรอก” จึงเริ่มเททอง น้ำทองจะไหลลงไปแทนที่ขี้ผึ้งรอบองค์พระ โดยเดินเททองบนนั่งร้านกรอกลงไปตามสายชนวนขี้ผึ้งรอบองค์พระ โดยเดินเททองบนนั่งร้านกรอกลงไปตามสายชนวนขี้ผึ้งติดเอาไว้ก่อนแล้วนั้น ช่องหรือสายชนวนนี้จะเปรียบเสมือนท่อน้ำทองให้ไหลไปทั่วองค์พระปฏิมา
เมื่อเททองสมบูรณ์แล้วจะปล่อยให้หุ่นพิมพ์เย็นลงแล้วจึงแกะดินที่ปั้นเป็นหุ่นออกให้หมด ยกองค์พระให้ตั้งขึ้นเริ่มขัดถูผิวให้เรียบตัดหมุดหรือ “ทวย” รวมทั้งสายชนวนออก หากมีตำหนิก็จะมีการนำเศษทองที่เหลือตอกย้ำให้เสมอกัน หากปรากฏเป็นช่องว่างมากก็เททองเพิ่มให้เต็มที่เรียกว่า “เทดิบ” บางครั้งจะใช้ยาซัดโลหะตามกรรมวิธีโบราณผสมลงในเบ้าหลอมด้วยเพื่อซัดเศษโลหะออกจากน้ำทอง ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อโลหะบริสุทธิ์
ในบางครั้งจะมีการลงรักปิดทองจนทั่วองค์พระ โดยใช้ “รักสมุก” คือรักผสมผงถ่านบดละเอียด ป้ายรักสมุกเข้ากับองค์พระให้ทั่วและเรียบทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนขัดด้วยหินละเอียด จากนั้นชะโลมด้วย “ รักน้ำเกลี้ยง” และใช้ “รักเช็ด” ทาองค์พระเพื่อปิดทองอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากการสร้างในลักษณะดังกล่าวโดยฝีมือ “ช่างหลวง” ที่มีฝีมือการหล่อพระถึงขึ้นสุดยอด ทำให้ได้องค์พระซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามทองคำแล่นบริบูรณ์ตลอดองค์ โดยใช้เนื้อทองคำธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่าทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา และแสดงให้เห็นถึงความแยบยล สามารถถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ถึง ๙ ส่วน โดยมีกุญแจกลเป็นเครื่องมือในการถอดประกอบ นับเป็นฝีมือช่างชิ้นเอกอันยากจะหาฝีมือสกุลช่างใดทัดเทียมได้
|
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:24:50 |
|
|
"พระพุทธพุทธรูปทองคำ" ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
ในปัจจุบัน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า "หลวงพ่อทองคำ" ประดิษฐานอยู่ ณ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ วัดไตรมิตรวิทยาราม เลขที่ ๖๖๑ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่พากันหลั่งไหลกันเข้ามาชมความงดงามแห่งองค์พระปฏิมาที่ทำจากเนื้อทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอันประเมินค่ามิได้
นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทั้งประเทศต่อมรดกแห่งอารยธรรมไทยที่ยิ่งใหญ่งดงาม อันเป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งโรจน์แห่งพุทธศิลปะ ฝีมือช่าง และพลังแห่งศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาที่สืบเนื่องเรื่อยมาจากอดีตจวบปัจจุบัน และเรื่อยไปยังอนาคตกาล ฯ
ข้อมูลจาก http://www.wattraimitr-withayaram.com/new_t/history_gb_page.php |
Posted by :modonut | วัน/เวลา :16/9/2557 8:27:00 |
|
|